โครงการของเรา

ความเป็นมา

      โครงการ “การสร้างมูลค่าเพิ่มและมูลค่าใหม่ของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม การบริการทางวัฒนธรรม และพื้นที่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ในเขตเมืองเก่า จังหวัดแพร่” เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยเรื่อง “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมพื้นที่เมืองแพร่ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการวิสาหกิจทางวัฒนธรรม” ดำเนินงานโดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานวิจัยปี พ.ศ. 2564 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

วัตถุประสงค์ของโครงการ

       วัตถุประสงค์หลักเพื่อหาแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนวัฒนธรรมในพื้นที่เขตเมืองเก่า จังหวัดแพร่ ที่สามารถสร้างสรรค์ต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการค้นหาทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา รวมทั้งผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน และ/หรือในพื้นที่ทางวัฒนธรรม เพื่อนำมาศึกษาหาแนวทางการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมจากฐานทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่มีอยู่ในการสร้างสรรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ สร้างมูลค่าใหม่ รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ บริการทางวัฒนธรรม และพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ในด้านความสามารถในการสร้างและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดกระบวนการการผลิตและบริการ การจัดการและการตลาด โดยพัฒนาทักษะหรือองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจในยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูง โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอันทรงคุณค่า อีกทั้งการส่งเสริมและการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมทั้งกลุ่มทุนวัฒนธรรมประเภทเดียวกันและความเชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการทุนทางวัฒนธรรมประเภทอื่น ทั้งในพื้นที่เดียวกันและนอกพื้นที่ชุมชน เพื่อให้เกิดคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งในท้องถิ่น

ทำไมถึงเป็นแพร่

        แพร่ เป็นจังหวัดที่มีความงดงามด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีที่ล้ำค่าเก่าแก่ และได้รับสมญานามว่าเป็น “ประตูสู่ล้านนา” เนื่องจากมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ แพร่เป็นเมืองแห่งไม้สักที่มีคุณภาพดีที่สุดและเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ใหญ่ที่สุด มีการสืบทอดกันมายาวนานจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนด้วยเสน่ห์ของการย้อมผ้าแบบธรรมชาติ โดยใช้วัตถุดิบจากต้นห้อม  ดังคำขวัญจังหวัดแพร่ “หม้อหอม ไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม”

      นอกจากนี้ แพร่ เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวัดวาอารามเก่าแก่ที่สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะจากหลากหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น พุกาม หรือ ล้านนาก็ตาม นอกจากวัดเก่าแก่ที่มีความสวยงามแล้ว ก็ยังมีคุ้มวงศ์บุรีและคุ้มเจ้าหลวง ที่สะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 คือเป็นอาคารที่ตกแต่งด้วยไม้ฉลุ หรือที่เรียกกันว่า ลายขนมปังขิง มีการผสมผสานกันระหว่างรายละเอียดของศิลปะไทยและโครงสร้างของศิลปะแบบยุโรป 

      นอกจากความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมเก่าแก่จากประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ จังหวัดแพร่นับว่าเป็นจังหวัดที่มีมรดกทางทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นและงานหัตถกรรมที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ด้านวิชาการและการศึกษา และด้านศิลปะและสุนทรียภาพ ทำให้แพร่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากฐานทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านงานฝีมือและหัตถกรรม (Creative City of Craft)

รายละเอียดผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมของผู้ประกอบการกาดกองเก่าที่เข้าร่วมในโครงการมีดังต่อไปนี้

 

1. วงกาสะลอง

ดอกไม้ดนตรีคำเมืองเติบโตกลางกาดกองเก่า​ ผ่านร้อน​ ฝน​ หนาว​ ย่างเข้าขวบปีที่15​ กับภารกิจนำเสียงเพลงกำเมืองไปเจื่อยแจ้วทั่วแดนไทยด้วยสโลแกน

“ยินดีจ้าดนักตี้ฮื้อเกียรติเพลงกำเมือง”

2. กุ๊บลอนมีเรื่องเล่า

(คุณกฤษฎนันท์ ทองนิภาวรรณ์)

“กุ๊บลอน”หมวกใบลานหมวกสานล้านนา ที่เห็นคุ้นชินตาตั้งแต่เกิด เป็นหัตถกรรมในครัวเรือน เดินไปทางไหนก็เห็นพี่ป้าน้าอาในชุมชนสานและเย็บกุ๊บลอนกันทุกครอบครัว ต่อมาหัตถกรรมพื้นบ้านชิ้นนี้ก็เลือนหายไปเรื่อยๆจากวิถึชุมชนจนแทบจะถูกลืมให้เหลือเพียงแค่อยู่ในความทรงจำ

ป้าอ้อยมองเห็นวิกฤติที่เกิดขึ้นกับกุ๊บลอน จึงเริ่มโครงการฟื้นฟูสืบสานเพื่อต่อลมหายใจให้กุ๊บลอน โชคดีมียาย2คนคือ ยายถวิล ยายจิ๊บปราชญ์กุ๊บลอนช่วยสอนส่งไม้ต่อให้คนในชุมชนได้ฝึกฝนการถักสานไม่ง่ายนะมีเหนื่อยนะ มีท้อนะ แต่เราไม่ยอมแพ้ จนในที่สุดปัจจุบันนี้เรามีช่างหัตถศิลป์นับ10คนที่ผลิตชิ้นงานกุ๊บลอนแบบดั้งเดิมที่สวยงามและกุ๊บลอนรูปแบบใหม่ๆแต่ไม่ละทิ้งอัตลักษณ์ดั้งเดิมเช่น กุ๊บลอนตะกร้า กุ๊บลอนโคมไฟ กุ๊บลอนปิ่นปักผม กุ๊บลอนโมบาย เป็นต้น

การสืบสานมรดกภูมิปัญญากุ๊บลอน เป็นการสืบสานเพื่ออนุรักษ์และสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนบ้านนาแหลมฉะนั้นโปรแกรมหาตลาดเพื่อกระจายสินค้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อให้การฟื้นฟูสืบสานเกิดขึ้นได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรม

3. ร้าน Popcraft

(คุณเธียรธนัช สุขวัฒนพันธ์)

ภาพรวมคือร้านที่เป็นศูนย์กลางความรู้ทางศิลปะและหัตถกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นหลัก เนื่องด้วยคุณเธียรธนัชเป็นวิทยากรสอนงานด้วย

ในส่วนของสินค้าก็จะออกแนวหัตถกรรมท้องถิ่นหรือร่วมสมัย งานผ้า/งานใบตอง/งานแกะสลักสบู่และผักผลไม้/งานตัดกระดาษ(ตุงชัย/โคมพื้นเมือง/เครื่องส่งเคราะห์) /งานจักสานพื้นฐาน/งานปั้นดินไทย/และอื่นๆ…

4. บ้านสามชอคราฟท์

(นางสุรางค์ ถิ่นสุข)

เป็นผลิตภัณฑ์งานจักสานไผ่ที่นำเสนอออกมาในรูปแบบของแพคเกจแบบต่างๆ สำหรับใส่อาหาร ขนม ของว่าง ของที่ระลึก โดยมีต้นแบบมาจากการนำลายสานเบื้องต้นคือลายขัดธรรมดา และลายเฉลว 6 (ลายโปร่ง)มาออกแบบสร้างชิ้นงาน

1.ลายขัดธรรมดา การนำลายขัดธรรมดามาออกแบบให้เป็นภาชนะรูปเรือ และกระเช้าเล็กๆ และตกแต่งให้เกิดความสวยงามด้วยดอกไม้ประดิษฐ์จากใบลานเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้เกิดขึ้นกับชิ้นงาน
2. ลายเฉลว 6 การนนำลายเฉลว 6 มาออกแบบเป็นแพคเกจโดยการยึดต้นแบบมาจากการสานชะลอมและตะกร้าและตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้ประดิษฐ์จากใบลานและเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เกิดขึ้นกับชิ้นงาน

แรงบันดาลใจที่ได้ออกแบบเป็นแพคเกจชุดนี้คือ ความชอบ ในงานจักสานเกิดความซึมซับในการใช้ของใช้ที่เป็นงานสาน ชีวิตประจำวันในอดีตเช่น กระบุง ตะกร้า กระด้ง ชะลอม ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงมีการใช้วัสดุหลายชนิดมาทำแพคเกจต่างๆ เช่น พลาสติก โฟม เพื่อสืบสานศิลปหัตถกรรมด้านงานจักสานที่มีคุณค่าทางงานฝีมือและเพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงได้เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือไม้ไผ่และใบลานมาสร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบ ของแพคเกจงานสานจากไม้ไผ่และเพื่อสร้างธุรกิจคู่ขนานกับร้านกาแฟและเบเกอรี่

5. บ้านดอกไม้แสงนภา

(คุณแสงนภา ทองคำพันธ์)

เป็นงานประเภท งานแฮนเมด ส่วนมากจะเน้นเป็นผ้าหม้อห้อม เนื่องด้วยเวลาออกไปสอนตามโครงการณ์ต่างๆ ทางหน่วยงานจะให้เน้นให้ใช้เศษผ้าเป็นหลัก งานส่วนมากจึงผลิตสินค้าประเภทของฝากและของที่ระลึก

6. The Little Bird Bakery

(คุณธันยพงศ์ ปะระมะ)

ร้านเค้กสไตล์โฮมเมด มีเบเกอรี่ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มสำหรับเด็ก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2557 ด้วยความรักในการทำเค้กและเบเกอรี่ ทำขายปลีกบ้าง ทำขายส่งบ้าง เปิดร้านที่ต่างจังหวัดมาในระยะเวลาหนึ่งจึงได้ตัดสินใจเปิดร้านในท้องถิ่นของตัวเอง ในชื่อ “เดอะ ลิตเติลเบิร์ด” โดยทางร้านจะรับทำเค้กในโอกาสพิเศษ และตามเทศกาลต่างๆ คุกกี้ ขนมปังอบ รับทำอาหารชุด อาหารกล่อง ชุดอาหารว่างและเครื่องดื่ม

โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายที่กาดกองเก่า จะเป็นเค้กหลายรสชาติและขนมอบหลากหลายชนิด เช่น ขนมกลีบลำดวน ขนมปังกรอบเนยสด คุกกี้คอนเฟลก

“กาดกองเก่า” สื่อถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนแพร่ เบเกอรี่หรือขนมเค้กและขนมอบชนิดต่างๆ แม้จะอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน แต่ก็ยังถือว่าเป็นวัฒนธรรมตะวันตก หากเราสามารถปรับสินค้าประเภทเค้กและขนมอบให้เข้ากับวัฒนธรรมชุมชนเก็จะเป็นสิ่งที่สวยงามมิใช่น้อย

โครงการ “แพร่สะพัดที่กาดกองเก่า” ได้จุดประกายแนวคิดที่จะปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับวิถีชุมชน โดยการบูรณาการร่วมกับกิจการอื่นๆ

7. ร้านตะวันประดิษฐ์สานเกษตร

(คุณจตุพร วงศ์ตะวัน)

ตอนเด็กเราเห็นคนเฒ่าคนแก่ทำของเล่นของใช้ให้ลูกหลานเล่นใช้กัน พอมารุ่นหลังของบางอย่างก็เลือนลางไม่ทันยุค จึงเกิดความคิดอยากทำของเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อเอาไว้ให้ลูกหลานได้รู้ได้เห็น จึงทำของประดิษฐ์สานขึ้นมา เริ่มจากความรู้ของตนที่พอมีมาบ้าง แล้วต่อด้วยการถ่ายทอดจากคนเฒ่าคนแก่ ครูพักลักจำและการเรียนเสริมจากที่ต่างๆจนทำให้มีชิ้นงานเก็บสะสม จึงนำบางส่วนออกมาสู่การขาย สินค้าของร้านจะเป็นงานประดิษฐ์งานสานแบบพื้นบ้านเรียบๆง่ายๆไม่ปรุงแต่งมากสินค้าอีกส่วนเป็นพืชผลทางการเกษตร

8. ร้าน “ตู่” ถักเชือกเทียน

(คุณมยุรี กันวันนะ และคุณจีรทีปต์ ลิ้มประเสริฐ)

ที่มาของร้านเริ่มจากมีความชอบส่วนตัว และได้ศึกษาด้วยตัวเองมาเรื่อยๆ จากยูทูปบ้าง หนังสือบ้าง และอาศัยครูพักลักจำจากชลบุรี สินค้าประกอบไปด้วยสร้อยพระ กรอบพระ ตะกรุด เบี้ยแก้ เครื่องรางของขลัง สร้อยถักหินสวยงาม เครื่องประดับ เป็นต้น
– ลายของเบี้ยแก้ที่ทำอยู่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษและพยายามแกะลายให้เหมือนที่สุด
– ลายต่อเงิน ต่อทอง เป็นลายที่คิดค้นเอง
– ลายอื่นๆ ได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องแต่งกาย จากภาพยนตร์ที่ชอบ ของโบราณต่างๆ
– ลายที่ลูกค้าสามารถออกแบบได้เอง
– นอกจากความสวยงามแล้ว งานของร้าน “ตู่” ยังเน้นไปทางด้านของเครื่องรางของขลัง ความเชื่อในการป้องกันภัยอันตราย ป้องกันโรค หินมงคลนำโชค นำเอาความเชื่อ ความศรัทธามาเป็นแนวทางในการทำการตลาด

9. น้อมบุญ​ ผ้ามัดย้อม

(คุณจีระพันธ์ วงค์ระแหง)

น้อมบุญ ผ้ามัดย้อมเริ่มจาก การทำสวนแบบวนเกษตร เริ่มปี 2550 แนวคิดทำสวนให้เป็นป่ามีต้นไม้พันธุ์ไม้หลากหลายชนิด พอต้นไม้โตก็นำมาใช้ประโยชน์เช่น นำใบไม้เปลือกไม้มาทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ มะกรูดทำแชมพูสมุนไพร สมุนไพรเช่น ขมิ้น ไพร เปล้าน้อย นำมาทำยาหม่องสมุนไพร ภายใต้แบรนด์น้อมบุญ ทางร้านจึงมีสินค้าหลากหลายเกิดจากการสร้างมูลค่าจากสวนน้อมบุญ

เป็นผลิตภัณฑ์งานจักสานไผ่ที่นำเสนอออกมาในรูปแบบของแพคเกจแบบต่างๆ สำหรับใส่อาหาร ขนม ของว่าง ของที่ระลึก โดยมีต้นแบบมาจากการนำลายสานเบื้องต้นคือลายขัดธรรมดา และลายเฉลว 6 (ลายโปร่ง)มาออกแบบสร้างชิ้นงาน